19 ตุลาคม 2554

ฟังดร.เล่า: น้ำท่วมเมืองไทย 4 - น้ำท่วม...วาระแห่งชาติ

วันที่ 16 ต.ค. 2554 ดร.ได้มีโอกาสพูดคุยกับพี่ @iPattt (Tigeridea, iHearBand, iPattt.com) และพี่ @warong (Vai Vai Soft, jongblog.com) ซึ่งประเด็นหลัก ก็คือเรื่องน้ำท่วม ซึ่งมันเกี่ยวโยงไปถึงการทำงานของหน่วยงานราชการ และสิ่งที่ประเทศไทยควรจะทำหลังจากผ่านพ้นวิกฤตน้ำท่วมปี 2554 ไปแล้ว

ดร.ได้เล่าเบื้องต้นถึงประสบการณ์การทำงานในกรมทรัพยากรธรณี ที่ได้ไปเข้าประชุมแทนอธิบดีทั้ง 4 คน สมัยดร.ยังทำงานอยู่ในกรมทรัพยากรธรณี ตัวอย่างเช่น อนุกรรมการลุ่มน้ำ คณะกรรมการคุ้มครองสัตว์ป่า ประชุมเรื่องผลของแผ่นดินไหวต่อประเทศไทยกับกรมอุตุนิยมวิทยา ประชุมเรื่องกฎหมายน้ำมันในสมัยอธิบดี ดร.ประภาส จักกะพาก ฯลฯ จนได้รู้ถึงวัฒนธรรมการทำงานของราชการไทย และเหตุผลที่คนที่มีฝีมือไม่อาจจะอยู่ในราชการไทยได้ และเล่าถึงวิธีการทำงานซึ่งต้องวางแผนกันตลอดปี ดังที่ผมเขียนไว้ใน ฟังดร.เล่า: น้ำท่วมเมืองไทย 3 - น้ำท่วม พ.ศ. 2554

น้ำท่วมเมืองไทย: น้ำท่วม...วาระแห่งชาติ

พี่ @iPattt ได้สอบถามถึงแนวความคิดสำหรับการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมในระยะยาวว่าควรจะต้องจัดตั้งกระทรวงใหม่เพื่อมาจัดการเรื่องภัยพิบัติโดยเฉพาะหรือไม่ ดร.บอกว่า ไม่ควรที่จะตั้งเป็นกระทรวงหรือกรม ควรที่จะตั้งคณะทำงานขึ้นมาเพื่อศึกษาแนวทางแก้ไขเท่านั้น ไม่ควรให้มีตำแหน่งใหญ่โต โดยให้คณะทำงานนี้ขึ้นตรงกับนายกรัฐมนตรี เพื่อให้สามารถขอข้อมูลจากหน่วยงานอื่นได้ง่าย และเมื่อเอาแผนงานมาใช้งานจริง ก็จะสามารถทำงานได้โดยไม่ติดขัด

น้ำท่วมเมืองไทย: Mega Project

สำหรับแนวทางในการศึกษาเพื่อแก้ปัญหาน้ำท่วมนั้น ดร.บอกว่า ประเทศไทยอาจจะขอความช่วยเหลือจากต่างประเทศเพื่อมาศึกษาข้อมูลปริมาณน้ำในไทย และสร้างวิธีการแก้ปัญหาน้ำท่วมในเชิงบูรณาการ
ภาพน้ำท่วมในเนเธอร์แลนด์เมื่อปี 1953
Photo: Getty Images via WIRED - Before the Levees Break: A Plan to Save the Netherlands

ดร.บอกว่าประเทศไทยอาจจะขอความช่วยเหลือผ่านทางสถานทูตเพื่อขอผู้เชี่ยวชาญเพื่อมาช่วยศึกษาวิธีการแก้ปัญหาน้ำท่วม โดยอาจจะติดต่อไปที่เนเธอร์แลนด์ หรือเกาหลีใต้ก็ได้ อย่างในเกาหลี เค้ามีการจัดการน้ำของเค้าเพื่อให้สามารถใช้ประโยชน์ได้สูงสุด ดังจะเห็นได้จากที่มีการทำนาเป็นขั้นบันไดเพื่อให้น้ำที่ลงมาตามเขาได้ผ่านที่นามากที่สุด และยังผันน้ำออกไปยังลำน้ำย่อยๆอีกเยอะแยะ ซึ่งจะสามารถใช้ประโยชน์จากน้ำได้มากที่สุดก่อนน้ำจะไหลลงทะเลไป
ทั้งนี้ดร.ยังเล่าถึงวิธีการหาทุนที่ดร. ได้เรียนรู้ตอนที่เป็นเลขาฯให้กับดร.ซี วาย ลี ที่ ESCAP ประเทศไทย โดยดร.ลี ได้สอนถึงขั้นตอนการเรียกประชุมตัวแทนประเทศผู้เกี่ยวข้อง เพื่อคุยถึงแนวความคิด และความเห็นของประเทศต่างๆ เมื่อรับฟังข้อคิดเห็นและปรับแก้จนเรียบร้อยแล้ว จึงส่งหนังสือไปให้ผู้แทนประเทศเหล่านั้นเพื่อเซ็นรับรอง เมื่อเซ็นรับรองแล้ว ดร.ลี ก็ติดต่อไปยังประเทศที่มีความเชี่ยวชาญเพื่อขอผู้เชี่ยวชาญเพื่อมาศึกษาข้อมูลตามที่เราต้องการ ซึ่งดร. บอกว่า ตรงจุดนี้ นักวิชาการทุกคนก็อยากจะมาเพราะทุกคนอยากจะมีผลงานที่มีคุณค่า และได้เที่ยวต่างประเทศโดยที่ใช้ทุนของสหประชาชาติ ด้วยวิธีการนี้ ดร.ได้เอามาปรับใช้กับงานในกรมทรัพยากรธรณี เพื่อขอทุนจากต่างประเทศมาทำโครงการ และสามารถส่งลูกน้องไปเรียนต่อในต่างประเทศจนจบปริญญาเอกมาหลายคนแล้ว

น้ำท่วมเมืองไทย: สิ่งสำคัญ - การบริหารจัดการน้ำ

ดร.บอกว่า สิ่งสำคัญที่สุดในการแก้น้ำท่วมคือการบริหารจัดการน้ำอย่างมีประสิทธิภาพ ไม่ใช่การแก้ปัญหาการตัดไม้ทำลายป่า เพราะปัญหาการตัดไม้ทำลายป่านั้นมีมานานกว่า 20 ปีแล้ว ซึ่งในสมัยนั้น ก็ยังสามารถจัดการน้ำไม่ให้ท่วมได้ ดร.ยังเล่าถึงการประชุมกับกรมป่าไม้เกี่ยวกับการออกใบอนุญาตเพื่อตัดไม้ ดร.บอกว่าไม่รู้ว่าจะออกใบอนุญาตอีกทำไมกัน เพราะกรมป่าไม้จริงๆแล้ว จะต้องสงวนพื้นที่ป่าเอาไว้ หรือควรจะต้องเปลี่ยนชื่อกรมใหม่เป็น "กรมปลูกป่า" และไม่ควรให้มีการออกใบอนุญาตตัดไม้อีก

ดร.เล่าให้ฟังถึงเขื่อนภูมิพลว่า สมัยเข้าป่าเพื่อสำรวจได้เคยไปดูเขื่อนภูมิพลตอนที่ยังก่อสร้างอยู่ด้วย จริงๆแล้วในการออกแบบเขื่อนจะต้องออกแบบให้สามารถรับแรงดันน้ำได้มากอยู่แล้ว ถึงแม้ว่าน้ำจะเต็มเขื่อนก็ตาม และเขื่อนนั้นจะต้องมีการออกแบบสำหรับ overflow อยู่แล้ว ซึ่งถ้าระดับน้ำสูงถึง overflow ก็สามารถปล่อยให้น้ำออกทาง overflow ได้ (ข้อมูลเพิ่มเติมจากพี่ @piyadit: เขื่อนจะมี Spillway (ทางน้ำล้น) โดยความสามารถในการรับน้ำของเขื่อนคิดที่ความสูงเท่ากับ Spillway หากมากกว่าแสดงว่าระดับน้ำอยู่เหนือ Spillway ครับ ซึ่งปกติการออกแบบเขื่อนจะออกแบบเผื่อสำหรับระดับน้ำที่อยู่เหนือ Spillway ประมาณ 2-4ม. แล้วแต่ขนาดเขื่อน หากน้ำเหนือเขื่อนมากก็ควรปล่อยน้ำออกบ้างมิฉะนั้นSpillway ระบายไม่ทัน นอกจากนี้แล้วระบบเขื่อนยังติดตั้งระบบ Instrumentation เพื่อวัดค่าความดันน้ำ,การซึมน้ำ ฯลฯ เพื่อให้แน่ใจว่าเขื่อนอยู่ในสภาพดี ทำงานได้)
พี่ @piyadit ช่วยให้ข้อมูลเรื่องการออกแบบเขื่อน

ดร. ยังพูดถึงคุณปลอดประสพ สุรัสวดีว่า คุณปลอดประสพนั้นเป็นคนเก่งมาก แต่เกรงว่าอาจจะไปไม่รอดกับการเป็นรัฐมนตรีและทำให้เสียคนเก่งไป เพราะคุณปลอดประสพเป็น Technocrat แต่ต้องมาปะทะกับ Aristocrat ด้วยความที่เป็นคนเถรตรง อาจจะทำให้ไม่มีความยืดหยุ่นพอที่จะบริหารจัดการงานกระทรวงได้

น้ำท่วมเมืองไทย: ถนนริมแม่น้ำเจ้าพระยา

Photo from NYDailyNews.com - Brooklyn Bridge Park: The new Central Park?

พี่ @iPattt ได้สอบถามดร. เกี่ยวกับแนวคิดที่ควรจะต้องทำทำนบกั้นดินหล่นไปในแม่น้ำดังที่ผมเคยเขียนเอาไว้ใน ฟังดร.เล่า: น้ำท่วมเมืองไทย 2 - ทางออก(ของน้ำใน)ประเทศไทย นั้น ดร.อธิบายถึงแนวความคิดนี้ว่า เราควรกั้นคอนกรีตตามแนวริมแม่น้ำ สร้างให้สูงและกว้าง ทำเป็นถนนไปเลย ดังในหลายๆ เมือง เช่น ลอนดอน ปารีส นิวยอร์ก โซล ก็จะมีถนนและสวนสาธารณะริมแม่น้ำ แล้วก็สามารถทำให้เป็นจุดท่องเที่ยวไปด้วยในตัว

น้ำท่วมเมืองไทย: วิกฤตน้ำท่วม 2554

น้ำท่วมในปี พ.ศ. 2554 นี้ ดร.บอกว่า ตอนนี้เราควรจะช่วยให้ผ่านพ้นวิกฤตกันให้ได้ก่อน คอยภาวนาให้สามารถระบายน้ำได้เร็ว ไม่ให้มีพายุเข้ามาอีก เมื่อผ่านพ้นวิกฤตไปแล้วก็ควรจะศึกษาปัญหาเพื่อที่จะแก้ปัญหาในระยะยาวต่อไปครับ